การสนับสนุนการยกระดับงานเด่นในไมซ์ซิตี้ เมืองที่มีศักยภาพ และเมืองสำคัญในภูมิภาค
Flagship Event

งานเด่น” หมายถึง งานประจำปี งานเทศกาล งานประเพณีและวัฒนธรรม กิจกรรมไมซ์และอีเวนต์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ (Identity) วิถีชีวิต (Lifestyle) และเศรษฐกิจ (Economic) ของไมซ์ซิตี้ เมืองที่มีศักยภาพ และเมืองสำคัญในภูมิภาค ที่ใช้กิจกรรมไมซ์เป็นตัวขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่อย่างชัดเจน
1. ระยะเวลาให้การสนับสนุน
นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุมัติหลักเกณฑ์ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2568
2. วัตถุประสงค์ของการให้การสนับสนุน
  • 2.1
    หน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เช่น กระทรวง ทบวง กรม สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น และให้รวมถึงหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ หรือกฎหมายอันมีลักษณะพิเศษรับรองความเป็นนิติบุคคลของหน่วยงานของรัฐนั้น ๆ
  • 2.2
    เพื่อส่งเสริม พัฒนา ยกระดับ ให้งานท้องถิ่น (homegrown) ที่มีศักยภาพให้เป็นงานเด่น (Flagship Event) เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการให้มีจุดขายที่แตกต่าง (Unique Selling Point: USP) ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ในไมซ์ซิตี้ เมืองที่มีศักยภาพ และเมืองสำคัญในภูมิภาคอย่างสร้างสรรค์
  • 2.3
    เพื่อสนับสนุนให้ใช้กิจกรรมไมซ์เป็นเครื่องมือในการส่งเสริม พัฒนา ยกระดับงานเด่นในไมซ์ซิตี้ เมืองที่มีศักยภาพ และเมืองสำคัญในภูมิภาค
  • 2.4
    เพื่อให้งานเด่นในไมซ์ซิตี้ เมืองที่มีศักยภาพ และเมืองสำคัญในภูมิภาค เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน เสริมสร้างการพัฒนาเมืองอย่างมีทิศทางและยั่งยืนต่อไป
3. คุณสมบัติของผู้ขอรับการสนับสนุน
  • 3.1
    หน่วยงานภาครัฐ ที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเจ้าของงานหรือเจ้าภาพร่วม
  • 3.2
    สมาคมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ อาทิ สมาคมการแสดงสินค้า (TEA) สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (TICA) สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) สมาคมโรงแรมไทย (THA) สมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA) สมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย (TMPSA) สมาคมธุรกิจอื่นๆ รวมถึงสถาบันการศึกษา องค์กร และมูลนิธิในไมซ์ซิตี้ เมืองที่มีศักยภาพ และเมืองสำคัญในภูมิภาค ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากเจ้าของงานหรือเจ้าภาพร่วม
  • 3.3
    ผู้จัดงาน (Organizer) ที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์จัดตั้งดำเนินธุรกิจจัดงาน ที่เกี่ยวข้องกับไมซ์ และเป็นสมาชิกของสมาคมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากเจ้าของงานหรือเจ้าภาพร่วม
4. หลักเกณฑ์การพิจารณาให้การสนับสนุน
สสปน. พิจารณาการสนับสนุนงานเทศกาล งานประเพณีและวัฒนธรรม กิจกรรมไมซ์และอีเวนต์ ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ (Identity) วิถีชีวิต (Lifestyle) และเศรษฐกิจ (Economic) ของไมซ์ซิตี้ เมืองที่มีศักยภาพ และ เมืองสำคัญในภูมิภาค โดยพิจารณา ดังนี้
  • 4.1
    ลักษณะงาน
         1) เป็นงานที่มีเจ้าภาพงานที่ชัดเจน โดยภาครัฐ ภาคเอกชน หรือสมาคมที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เป็นเจ้าของงานหรือเจ้าภาพร่วม หรือการจัดงานจากนโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
         2) เป็นงานที่มีศักยภาพในการเติบโต สามารถทำการยกระดับมาตรฐานการจัดงานจากระดับท้องถิ่น หรือระดับจังหวัด ไปสู่ระดับประเทศ และเป็นงานที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติได้
         3) เป็นงานที่มีแหล่งทุนงบประมาณจัดงานที่แน่นอน ไม่เป็นงานที่ระดมทุนหรือแอบแฝงเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ
         4) เป็นงานที่มีแผนการจัดงานอย่างต่อเนื่อง (Consistency) สามารถพัฒนาให้เป็นที่จดจำในปฏิทินการจัดงานของเมือง จังหวัด และประเทศไทย
         5) เป็นงานที่มีกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน (Community Engagement)
         6) เป็นงานที่มีแนวปฏิบัติการจัดงานอย่างยั่งยืน (Sustainability Practice)
         7) ต้องไม่เป็นงานที่มีลักษณะลอกเลียนแบบ (copy) หรือเป็นงานที่แข่งกับงานประเภทเดียวกันในพื้นที่จังหวัดอื่น
  • 4.2
    ประเภทของงาน
         1) งานประจำ คือ งานที่จัดเป็นประจำ มาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง และมีปฏิทินการจัดงานเป็นประจำทุกปี หรือทุก 2 ปี และมีแผนงานการดำเนินงานต่อเนื่อง
         2) งานใหม่ คือ งานที่มีแผนงานจัดขึ้นเป็นครั้งแรก และมีแผนงานการดำเนินงานต่อเนื่อง
         3) งานต่อเนื่อง คือ งานที่ได้รับสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่เกิน 5 ปี
  • 4.3
    ประเภทของงาน
          การให้สนับสนุน ประกอบด้วย การให้เงินสนับสนุน (Financial Support) หรือการสนับสนุนที่ไม่อยู่ในรูปแบบเงินสนับสนุน (Non – Financial Support) ที่ประมาณการวงเงินหรือมูลค่าได้ ซึ่งสำนักงานจะพิจารณา ให้การสนับสนุน ไม่เกินกรอบวงเงินรวม 1,500,000 บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน) ต่องาน ต่อปี และต่อเนื่องไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้การพิจารณารูปแบบให้เงินสนับสนุน (Financial Support) หรือการให้สนับสนุนซึ่งสสปน. เป็นผู้ดำเนินการ โดยสามารถประมาณการวงเงินหรือมูลค่าได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
          4.3.1. การสนับสนุนในรูปแบบเงินสนับสนุน (Financial Support) ประกอบด้วยการสนับสนุน ดังนี้
                   1) สนับสนุนจัดกิจกรรมไมซ์ภายในงานเพื่อยกระดับงานเด่น สสปน. จะพิจารณาให้การสนับสนุนสำหรับงาน ที่มีแผนการจัดกิจกรรมไมซ์ เพื่อยกระดับงานให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากการใช้กิจกรรมไมซ์ขับเคลื่อน สามารถเลือกขอรับสนับสนุน ได้ไม่เกิน 2 กิจกรรม โดยมีตัวชี้วัดรายกิจกรรม ภายในกรอบวงเงินสนับสนุน 800,000 บาท (แปดแสนบาทถ้วน) ดังนี้
    ที่ กิจกรรมไมซ์เพื่อยกระดับงานเด่นไมซ์ซิตี้ เมืองที่มีศักยภาพ และเมืองสำคัญในภูมิภาค
    1 กิจกรรมการจัดประชุมและสัมมนา (Conference & Seminar) พิจารณาจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม
    (1) จำนวน 50 – 100 คน วงเงินสนับสนุน 250,000 บาท
    (2) จำนวน 101 – 200 คน วงเงินสนับสนุน 350,000 บาท
    (3) จำนวน 201 คน ขึ้นไป วงเงินสนับสนุน 500,000 บาท
    2 กิจกรรมการจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching) พิจารณาจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม
    (1) จำนวน 30 – 50 คู่ธุรกิจ วงเงินสนับสนุน 100,000บาท
    (2) จำนวน 51 คู่ธุรกิจ ขึ้นไป วงเงินสนับสนุน 200,000 บาท
    3 กิจกรรมการตลาดและการประชาสัมพันธ์ (Marketing and PR) พิจารณาจากแผนการดำเนินการวงเงินสนับสนุน 300,000 บาท
    4 กิจกรรม Field Trip/Familiarization Trip เส้นทางสายไมซ์ เชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ไมซ์กับการจัดงานเด่นในพื้นที่ กระตุ้นการมีส่วนร่วมจากชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการให้มีจุดขายที่แตกต่างแก่กลุ่มผู้ซื้อที่มีศักยภาพ (Potential Buyers) โดยเปิดประสบการณ์เส้นทางและผลิตภัณฑ์ไมซ์ ไม่น้อยกว่า 3 เส้นทางภายใต้ 7 Themes ของ สสปน. หรือนำเสนอผลิตภัณฑ์ไมซ์ใหม่ จำนวน 9 สินค้าหรือบริการจากในพื้นที่ วงเงินสนับสนุน 300,000 บาท
    5 กิจกรรมส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการจัดงานเด่น อาทิ ระบบลงทะเบียนออนไลน์เพื่อเก็บฐานข้อมูล (Data Base) ผู้เข้าร่วมงาน ระบบการเสวนา/สัมมนาออนไลน์ ระบบเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ หรือแบบผสมผสาน (Hybrid) หรือระบบถ่ายทอดสัญญาณสด (Live Streaming) สร้างการรับรู้ภายในงานเด่น และอื่นๆ เป็นต้นวงเงินสนับสนุน 300,000 บาท
    6 กิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการยกระดับการจัดงาน อาทิ กิจกรรมการประกวดผลงานเทศกาลนานาชาติในสาขาต่างๆ เป็นต้นวงเงินสนับสนุน 300,000 บาท

                   2) สนับสนุนการศึกษาและแผนงาน เพื่อพัฒนาและยกระดับงานเด่น สสปน. จะพิจารณาให้การสนับสนุนสำหรับงาน ภายในกรอบวงเงิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) จำนวนงาน 1 ครั้ง ต่องาน ผลการศึกษาประกอบด้วย
                        (1)รายงานการศึกษาความพร้อมและความเป็นไปได้ (Feasibility study) ของการจัดงาน
                        (2)แผนการยกระดับงาน (Upgrade Roadmap)
                   3) สนับสนุนการจัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อพัฒนาองค์ประกอบของงานเด่น สสปน. จะพิจารณาให้การสนับสนุนสำหรับงานเด่น ที่มีแผนการจัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อพัฒนาองค์ประกอบของงานตามศักยภาพและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ อาทิ ทักษะบุคลากร การบริหารจัดการ และ/หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ไมซ์จากผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น ภายในกรอบวงเงินสนับสนุน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน)

          4.3.2 การสนับสนุนที่ไม่อยู่ในรูปแบบเงินสนับสนุน (Non-Financial Support)ประกอบด้วยรายละเอียดการสนับสนุนด้านการบริการ และการให้การสนับสนุนในกรณีที่ผู้ขอรับสนับสนุนเป็นหน่วยงานภาครัฐที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย
                   1) การให้บริการคำปรึกษาอย่างสร้างสรรค์เพื่อร่วมพัฒนาและยกระดับงาน (Co-Creation) การให้คำปรึกษา เพื่อปรับปรุงกระบวนการและรูปแบบการวางแผนดำเนินการยกระดับงาน และร่วมบูรณาการวิธีปฏิบัติต่างๆ ทำให้งานเกิดการต่อยอดทางความคิดโดยมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงระบบและแนวคิดอย่างสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน เพื่อให้การจัดงานเกิดประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน โดยผู้ขอรับสนับสนุนสามารถแจ้งความจำนงมายัง สสปน. เพื่อทำนัดหมายเข้ามารับคำปรึกษา
                   2) การให้บริการสื่อสารการตลาดเพื่อการประชาสัมพันธ์ (Marketing Communication) สสปน. ให้บริการกิจกรรมสื่อสารการตลาดเพื่อการประชาสัมพันธ์ ในรูปแบบสินค้าและบริการผ่านสื่อต่างๆ ของ สสปน. อาทิ ปฏิทินการจัดกิจกรรมไมซ์ในเว็บไซต์ www.businesseventsthailand.com, การใช้บริการระบบ Thai MICE Connect: e-MICE Marketplace, การใช้บริการระบบบริหารจัดงานผ่าน Biz Connect Application และการประชาสัมพันธ์ในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ของ สสปน. เป็นต้น โดยผู้ขอรับต้องส่งข้อมูลสำหรับการประชาสัมพันธ์การจัดงาน มายัง สสปน. อย่างน้อย 15 วันทำการ ก่อนการจัดงาน
                   3) การให้บริการอำนวยความสะดวก (Facilitation)
                        (1) การให้บริการช่องผ่านทางเข้าเมืองพิเศษ (MICE LANE) สำหรับผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ ณ สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ/ดอนเมือง สำหรับกลุ่ม VIP จากต่างประเทศ จำนวนไม่เกิน 15 คน โดยผู้ขอรับสนับสนุนต้องดำเนินการแจ้งเรื่องมายัง สสปน. ทราบอย่างน้อย 15 วันทำการ ก่อนวันใช้บริการ
                        (2) การให้บริการประสานงานเครือข่ายภาครัฐและเอกชน อาทิ หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน สมาคมการค้า และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในไมซ์ซิตี้ เมืองที่มีศักยภาพ และเมืองสำคัญในภูมิภาค สร้างความร่วมมือและมีส่วนร่วมพัฒนาการจัดงานยกระดับให้การจัดงานมีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ ให้เกิดผลกระทบเชิงบวกทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มากขึ้น
                   4) การให้บริการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของการจัดงาน (Economic and Social Impact)
5. ขั้นตอนการขอรับการสนับสนุนและการเบิกจ่ายเงินสนับสนุน
  • 5.1
    ผู้ขอรับการสนับสนุนจะต้องยื่นคำขอรับการสนับสนุนต่อสำนักงานโดยทำหนังสือ หรือกรอกข้อมูลในแบบฟอร์ม Request for Support Form (RFS: D-Flagship) ทางเว็บไซต์ https://rfs.businesseventsthailand.com ก่อนการจัดงาน/กิจกรรมอย่างน้อย 45 (สี่สิบห้า) วันก่อนการจัดงาน โดยระบุรายละเอียดการจัดงานหรือกิจกรรมและแนบเอกสารประกอบการพิจารณา ดังต่อไปนี้
    5.1.1) หนังสือขอรับการสนับสนุน โดยระบุวงเงินที่ขอรับการสนับสนุน
    5.1.2) รายละเอียดการจัดงานหรือกิจกรรม ประกอบด้วย
               (1) หลักการและเหตุผล
               (2) วัตถุประสงค์
               (3) รายละเอียดการจัดงานและกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย ความเป็นมาของโครงการ/กำหนดการจัดงาน/สถานที่จัดงาน/ตัวชี้วัดและเป้าหมายโครงการ (KPIs)/ประมาณการณ์จำนวนผู้เข้าร่วมงานและกิจกรรมภายในงาน/งบประมาณการจัดงาน/ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ (ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
               (4) กิจกรรมไมซ์เพื่อพัฒนาและยกระดับงานเด่น ตัวชี้วัดโครงการ (KPIs) และแผนการใช้งบประมาณที่ขอรับสนับสนุนจาก สสปน.
               (5) รายงานสรุปการจัดงานปีล่าสุด กรณีขอรับสนับสนุนประเภท งานประจำ
    5.1.3) หนังสือรับรองนิติบุคคล ที่มีอายุไม่เกิน 3 เดือน นับจากวันขอรับสนับสนุน/ ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน หรือหนังสือจัดตั้งหน่วยงาน และ/หรือใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ. 20) ของผู้ขอรับสนับสนุน พร้อมลงนามรับรองความถูกต้องโดยผู้มีอำนาจลงนาม ตามปรากฎในหนังสือรับรอง พร้อมประทับตรา ในกรณีผู้มีอำนาจลงนาม ตามปรากฎในหนังสือรับรอง มอบอำนาจให้ผู้อื่นกระทำการแทน ต้องจัดทำหนังสือมอบอำนาจและติดอากรแสตมป์ ในการนำส่งขอรับสนับสนุนจาก สสปน.
    5.1.4) หลักเกณฑ์สนับสนุนการยกระดับงานเด่นในไมซ์ซิตี้ เมืองที่มีศักยภาพ และเมืองสำคัญในภูมิภาค (Flagship Event Policy) โดยผู้มีอำนาจลงนามรับทราบ
    5.1.5) หลักฐานการรับรองจากคณะกรรมการไมซ์ประจำจังหวัด หรือจากผู้บริหารระดับจังหวัด หรือหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ขอรับการสนับสนุนการยกระดับงานเด่นฯ
  • 5.2
    เมื่อผู้ขอรับการสนับสนุนนำเสนอรายละเอียดการจัดงาน และเอกสารขอรับสนับสนุนตามที่ระบุครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว สสปน. จะพิจารณาคำขอรับการสนับสนุนและเอกสารประกอบตามหลักเกณฑ์ และจัดทำหนังสือตอบรับการสนับสนุน เพื่อเป็นการยืนยันการให้การสนับสนุน ภายใน 15 วันทำการนับถัดจากวันที่ได้รับเอกสารขอรับสนับสนุนครบถ้วนสมบูรณ์
  • 5.3
    สสปน. จะแจ้งผลการตอบรับสนับสนุนเป็นหนังสือตามแบบที่ สสปน. กำหนด และส่งให้ผู้ขอรับสนับสนุนทราบ โดยระบุจำนวนเงินสนับสนุนประมาณการตามจำนวนที่ปรากฏในหนังสือขอรับการสนับสนุน ทั้งนี้ การสนับสนุนอาจเป็นได้ทั้งการสนับสนุนการให้เงินสนับสนุน (Financial Support) หรือการให้สนับสนุนในรูปแบบอื่น ที่สามารถประมาณการวงเงินหรือมูลค่าได้
  • 5.4
    ผู้ขอรับการสนับสนุนจะต้องลงนามรับทราบการให้การสนับสนุนที่ระบุไว้ในหนังสือตอบรับ การสนับสนุน และส่งกลับมายัง สสปน. ภายใน 15 วันทำการ ทั้งนี้ เมื่อได้รับการพิจารณาสนับสนุน ผู้ขอรับสนับสนุนต้องนำเสนอรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานและนำเสนอรายงานสรุปผลการจัดงาน ต่อ สสปน. และคณะกรรมการไมซ์ประจำจังหวัด หรือผู้บริหารระดับจังหวัด หรือหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง โดยนำเสนอรายงานสรุปผลการจัดงาน ภายใน 45 วันหลังงานจัดเสร็จสิ้น
  • 5.5
    เมื่อดำเนินการจัดงานหรือกิจกรรมตามเงื่อนไขการให้การสนับสนุน ผู้ขอรับการสนับสนุนจะต้องเบิกจ่ายเงินสนับสนุน ภายใน 60 วัน(หกสิบวัน) นับจากวันที่จัดกิจกรรมภายใต้หลักเกณฑ์สนับสนุนฯ แล้วเสร็จ โดยกรอกแบบฟอร์มข้อมูลหลังงานในแบบฟอร์ม RFS: D-Flagship ประกอบเอกสารขอเบิกจ่าย ดังนี้
                1) ใบแจ้งหนี้ (Invoice) หรือ หนังสือขอเบิกเงินสนับสนุน
                2) สำเนาหนังสือตอบรับให้การสนับสนุนของสำนักงาน พร้อมลงนาม
                3) รายงานสรุปผลการจัดงานในรูปแบบเล่มรายงาน 1 ฉบับ และในรูปแบบไฟล์อิเล็คทรอนิค บรรจุใน Flash drive 1 จำนวนชิ้น โดยเนื้อหาในรายงานประกอบด้วย
                    (1) ผลการจัดงานในภาพรวม
                    (2) สรุปจำนวนผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดโดยแบ่งชาวไทยและชาวต่างชาติ
                    (3) สรุปผลการจัดงานแต่ละกิจกรรม ผลงานตามตัวชี้วัดกิจกรรมไมซ์ที่ได้นำเสนอโครงการ
                    (4) สรุปหลักฐานสิทธิประโยชน์ที่ สสปน. ได้รับ
                    (5) ภาพถ่ายการจัดงาน และกิจกรรมที่ปรากฏโลโก้ของ สสปน.
                    (6) ไฟล์รูปภาพไฮไลท์การจัดงานที่มีความละเอียดสูง จำนวน 10-20 ภาพ
                    (7) ไฟล์วีดีโอ (ถ้ามี)
                    (8) เอกสารอื่นๆ ตามที่ สสปน. ร้องขอ
  • 5.6
    สสปน. จะดำเนินการเบิกจ่ายภายใน 30 วัน (สามสิบวัน) (นับจากวันที่ สสปน. ได้รับเอกสารตามข้อ 5.5 จากผู้ขอรับสนับสนุน ถูกต้องครบถ้วน)
  • 5.7
    สสปน. จะเบิกจ่ายเงินสนับสนุนให้กับผู้ขอรับการสนับสนุนเท่านั้น โดยผู้ขอรับการสนับสนุนจะเป็นผู้รับผิดชอบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) (ถ้ามี) และเมื่อผู้ขอรับสนับสนุนได้รับเงินสนับสนุนแล้ว จะต้องออกใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือแจ้งรับทราบการได้รับการสนับสนุนให้แก่ สสปน.
6. ข้อตกลงและเงื่อนไข
  • 6.1
    ผู้ขอรับการสนับสนุนเข้าใจและยอมรับข้อตกลง และเงื่อนไขการขอรับสนับสนุนของ สสปน. ตามระเบียบสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ว่าด้วยการการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และหลักเกณฑ์การสนับสนุนฉบับนี้
  • 6.2
    ผู้ขอรับการสนับสนุนรับรองว่าการขอรับสนับสนุนดำเนินการโดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนหรือผู้ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทน โดยแนบเอกสารจดทะเบียนรับรองหน่วยงาน และ/หรือ หนังสือมอบอำนาจให้กระทำการแทน
  • 6.3
    ผู้ขอรับการสนับสนุนต้องจัดให้ สสปน. มีส่วนเข้าร่วมในกิจกรรม เพื่อพัฒนาและยกระดับงานเด่น อาทิ การประชุมเชิงปฏิบัติการ การสัมมนา กิจกรรมการตลาด และการศึกษาดูงาน เป็นต้น
  • 6.4
    ผู้ขอรับการสนับสนุนยินยอมและจะอำนวยความสะดวกแก่ สสปน.หรือผู้แทน เพื่อเข้าสังเกตการณ์ตรวจสอบและประเมินผลการจัดงานหรือกิจกรรมได้ตามความเหมาะสม ทั้งก่อนหน้าการจัดงาน และระหว่างการจัดงาน
  • 6.5
    ผู้ขอรับการสนับสนุนยินยอมให้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดตามผลการจัดงานเพื่อประเมิน หรือเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการจัดประชุมและนิทรรศการ
  • 6.6
    ผู้ขอรับการสนับสนุนรับรองและรับประกันว่าจะปฎิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  • 6.7
    ผู้ขอรับการสนับสนุนต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้แก่ สสปน. เพื่อใช้ข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวสำหรับการตรวจสอบการปฎิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไขของผู้ขอรับการสนับสนุนตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนตามฉบับนี้ และประชาสัมพันธ์กิจกรรมของ สสปน.
  • 6.8
    ผู้ขอรับการสนับสนุนยินยอมที่จะนำส่งข้อมูลการจัดกิจกรรม รายงานการดำเนินกิจกรรม และฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมแก่ สสปน.
  • 6.9
    สสปน. ขอสงวนสิทธิ์ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดหลักเกณฑ์การสนับสนุนตามความเหมาะสมโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
  • 6.10
    ในกรณีที่มีการปรับเปลี่ยน แก้ไข ยกเลิก แผนการดำเนินกิจกรรม หรือการขอปรับเปลี่ยนการขอรับการสนับสนุนที่ได้รับอนุมัติแล้วตามหลักเกณฑ์ ผู้ขอรับการสนับสนุนจะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ สสปน. ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันเริ่มจัดงาน
  • 6.11
    การเปลี่ยนชื่องาน / การร่วมจัดงาน / งานที่จัดโดยผู้จัดเดียวกัน /จัดงานในสถานที่หรือจังหวัดเดียวกัน เวลาเดียวกัน / การปรับงานที่ปรับมาจากงานเดิม ให้ถือว่าเป็นงานเดิม ไม่สามารถขอรับสนับสนุนใหม่ได้
  • 6.12
    สสปน. ขอสงวนสิทธิในการพิจารณาอนุมัติสนับสนุนการจัดงานหรือกิจกรรมตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนฉบับนี้ ซึ่งจะพิจารณาประกอบกับงบประมาณการสนับสนุนของ สสปน. ที่จัดสรรไว้แล้ว โดยผู้รับการสนับสนุนไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใดๆทั้งสิ้น
  • 6.13
    สสปน. สงวนสิทธิในการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการสนับสนุนตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
  • 6.14
    ในกรณีผู้ขอรับการสนับสนุนไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนนี้ สสปน.ขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกการสนับสนุนดังกล่าว โดยการพิจารณาของ สสปน.ถือเป็นที่สิ้นสุด
  • 6.15
    การขอรับการสนับสนุนที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนนี้ ผู้อำนวยการ สสปน. สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบสนับสนุนเป็นรายกรณีไป
  • 6.16
    กรณีผู้ขอรับการสนับสนุนให้ข้อมูล หรือนำส่งเอกสารอันเป็นเท็จ เพื่อใช้ในการขอการสนับสนุนหรือขอเบิกจ่าย จะถูกตัดสิทธิในการให้การสนับสนุน และถูกดำเนินการทางกฎหมาย
หมายเหตุ :
    คำจำกัดความ
       “สสปน.” หมายความว่า สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
       “ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ
       “รองผู้อำนวยการ” หมายความว่า รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ
       “สำนักภาค” หมายความว่า สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและตะวันออก และภาคใต้
       “การให้สนับสนุน” หมายความว่า การให้เงินสนับสนุน (Financial Support) ตามที่ผู้ขอรับสนับสนุนทำหนังสือขอสนับสนุนโดยต้องอยู่ในกิจรรมที่เกี่ยวข้องกับไมซ์เพื่อการยกระดับงานในองค์รวม หรือการให้สนับสนุนในรูปแบบอื่น (Non – Financial Support) ที่สสปน. ดำเนินกิจกรรมหรือมีการประมาณการวงเงินหรือมูลค่าได้ ซึ่งสำนักงานได้ให้แก่ ผู้ขอรับสนับสนุน
       “งานเด่น” หมายความว่า งานประจำปี งานเทศกาล งานประเพณีและวัฒนธรรม กิจกรรมไมซ์และอีเวนต์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ (Identity) วิถีชีวิต (Lifestyle) และเศรษฐกิจ (Economic) ของไมซ์ซิตี้ เมืองที่มีศักยภาพ และเมืองสำคัญในภูมิภาค ที่ใช้กิจกรรมไมซ์เป็นตัวขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่อย่างชัดเจน
 
 
For more information please kindly email to rgo@tceb.or.th